Node มันคืออะไรกันนะ

โหนด (Node) ในทางบล็อกเชน (Blockchain) นั้น คือแต่ละส่วนในเครือข่ายบล็อกเชนที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้มีส่วนร่วมรวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายขึ้นมา โดยส่วนมากจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ผู่ร่วมเครือข่ายแต่ละคนเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายบล็อกเชน เช่น โน้ตบุ๊ก เซิร์ฟเวอร์ และ online wallet ซึ่งแต่ละโหนดก็จะแทนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์แต่ละเครื่องนั่นเอง โดยแต่ละโหนดจะเชื่อมต่อกับบล็อกเชนและมีการอัปเดตข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลล่าสุดที่ถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชนนั้น

วัตถุประสงค์ของโหนด คือ ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง และให้ทุกคนในเครือข่ายของบล็อกเชนนั้นสามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบธุรกรรมหรือข้อมูลที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อที่จะถูกเก็บไว้ในเครือข่ายได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส และจะมีการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้เฉพาะบุคคล ส่วนมากข้อมูลจะถูกเก็บแบบ Full node ซึ่งเป็นโหนดเดี่ยว ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวที่มากกว่า แต่การเพิ่มโหนดเข้าไปให้มากยิ่งขึ้น จะเป็นการกระจายอำนาจไปให้แต่ละบุคคลมากขึ้นเพื่อช่วยในการตรวจสอบเครือข่ายให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาในเครือข่ายที่อยู่ในรูปของกลุ่มก้อนหรือบล็อก (block) ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แต่ละอันนั้น จะมีตัวโหนดนี่แหละในการทำหน้าที่สื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในแต่ละบล็อกและก็จะถูกกระจายไปยังโหนดอื่นๆเพื่อช่วยกันในการตรวจสอบ ก่อนจะตัดสินว่าจะมีการยอมรับหรือปฏิเสธบล็อกนั้น และเนื่องจากบล็อกเชน ที่มีการกระจายศูนย์ (Decentralization) นั้นจะไม่พึ่งพาตัวกลางใด ๆ จึงต้องอาศัยระบบ Peer to Peer (P2P) จากโหนดแต่ละแห่งที่เชื่อมต่อกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั่นเอง

แล้วโหนดมีแบบไหนบ้าง?

หลักๆแล้วก็จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ Full node และ Light node

1. Full node จะมีหน้าที่คอยเก็บข้อมูลการทำธุรกรรม หรือ Transaction (TRX) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดบน Blockchain ตั้งแต่แรกเริ่มในอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีความจุของหน่วยความจำที่สูงมาก แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

– โหนดตัดทอน (Pruned node)

มีหน้าที่คือเก็บข้อมูลธุรกรรมที่ถูกดำเนินการล่าสุดและข้อมูลส่วนสำคัญอีกบางส่วน ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความจุของหน่วยความจำที่สูงมาก เปรียบเหมือนกระเป๋าสี่มิติของโดราเอมอนที่แม้ภายนอกจะมีขนาดเล็กแต่สามารถบรรจุสิ่งสำคัญ ๆ ไว้ได้เยอะนั่นเอง

– โหนดเก็บถาวร (Archival node)

จะเป็นโหนดที่เก็บข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันทั้งหมด หรือคนส่วนใหญ่อาจจะเรียกว่า Full node โดยผู้ที่จะใช้งานโหนดนี้ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความจุของหน่วยความจำที่สูงมากเพื่อที่จะเก็บข้อมูลของบล็อกเชนได้ทั้งหมด และยังสามารถแบ่งแยกย่อยอีกได้เป็น

  • Mining node ที่จะมีการเพิ่มบล็อกใหม่เข้าไปได้ด้วยระบบฉันทามติ (Consensus Protocol) แบบพิสูจน์การทำงาน (Proof of Work) โดยเป็นการให้คอมพิวเตอร์ของแต่ละโหนดนั้นแข่งกันเพื่อแก้สมการคณิตศาสตร์ หรือที่เราเรียกว่า การขุด (mining) นั่นเอง ซึ่งผู้ที่ทำได้เร็วที่สุดก็จะได้รับรางวัลตอบแทนจากระบบไป เช่น Bitcoin, Ethereum เป็นต้น
  • Staking node ที่จะมีการเพิ่มบล็อกใหม่เข้าไปด้วยการใช้ระบบฉันทามติแบบพิสูน์การมีส่วนร่วม (Proof of Stake) ซึ่งต้องฝากเหรียญเข้าไป stake ในระบบ โดยโหนดจะคอยเก็บรักษาเหรียญไว้
  • Master node เป็นโหนดที่จะไม่มีการเพิ่มบล็อกใหม่ แต่มีหน้าที่ในการช่วยตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา และผู้ที่เป็นเจ้าของ Master node นั้นๆก็จะได้รับผลตอบแทนในการเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องนั้น ยกตัวอย่างเช่น GALA node ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้นั่นเอง
  • Authority node ที่จะมีการเพิ่มบล็อกใหม่เข้าไปได้เลย มักใช้ระบบฉันทามติแบบอ้างอิงชื่อเสียง (Proof of Authority) และระบบฉันทามติแบบเสนอตัวแทน (Delegated Proof-of-Stake) โดยไม่ต้องมีการอนุมัติจากเครือข่ายเหมือน Mining node และ Staking node โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือ จึงได้รับความเชื่อใจในในการตรวจสอบ

2. Light node หรือเรียกอีกอย่างว่า SPV (Simple Payment Verification) node จะมีการดึงแค่ข้อมูลที่จำเป็นบนบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมเป็นบางส่วน ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ส่วนมากจะดาวน์โหลดเก็บไว้ใน wallet และเชื่อมต่อกับ Full node ไว้ ซึ่งเหมาะที่จะใช้สำหรับการทำธุรกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันซึ่งจะเก็บข้อมูลของบล็อกล่าสุดและกระจายออกไปตามโหนดต่าง ๆ เพื่อประมวลผล