ประเภทของ Stablecoin รู้ไว้ใช้ให้เป็น!

มาอัพเดทข้อมูลความรู้กันหน่อยดีกว่า! จากที่เคยนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของ Stablecoin กันไปบ้างแล้ว ครั้งนี้จะมานำเสนอข้อมูลที่เจาะลึกขึ้นมาอีกนิด เพื่อนำไปประดับเป็นความรู้ที่จะช่วยให้เราอยู่รอดในโลกอันกว้างใหญ่ของคริปโตเคอเรนซี่แห่งนี้

Stablecoin หรือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่หรือเกือบคงที่โดยจะถูกผูกและอ้างอิงตามสินทรัพย์ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และมีมูลค่าที่ค่อนข้างเสถียร ยกตัวอย่างเช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วหน้าที่ของ Stablecoin จะเอาไว้เป็นที่พักของเงินที่ต้องการความเสถียร ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะทำการเปลี่ยนไปเป็นสกุลเงินอื่นต่อไป ดั้งนั้นจึงไม่ควรมีความผันผวนของราคาที่มากนัก

โดยหลักแล้ว Stablecoin นั้นจะมี 3 ประเภท คือ Fiat-backed, Cryptocurrency-backed และ Algorithm-based โดยจะมีเพิ่มเติมมาอีกหนึ่งประเภทคือ Commodity-backed

*** UST ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ Algorithm-based ที่ไม่ได้มีการผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ใด ๆ เลย

Fiat-backed เป็น Stablecoin ที่ถูกผูกมูลค่าไว้กับสกุลเงินที่มีความเสถียรและมั่นคงของแต่ละประเทศ เช่น USDT USDC และ BUSD ที่จะมีการฝากเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนเท่ากับอุปทานทั้งหมดในระบบ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเงินประกันสำรองในธนาคารสหรัฐเมื่อราคาของดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างกระทันหัน ซึ่งแน่นอนว่าราคาของสกุลเงินที่ผูกก็จะส่งผลต่อ Stablecoin เช่นกันนั่นเอง แต่การที่ทางเจ้าของเหรียญออกมายืนยันว่ามีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่นั้นก็เป็นการยากที่จะตรวจสอบเช่นกันว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการเป็นสินทรัพย์สำรองหรือไม่

Cryptocurrency-backed เป็น Stablecoin ที่ผูกมูลค่าไว้กับสกุลเงินดิจิทัล โดยจะมีความเป็น Decentralized โดยจะไม่มีคนกลางคอยควบคุม แต่จะถูกทำให้มูลค่าคงที่ด้วยการใช้ Smart contract ทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือในตัวเอง โดยมักจะผูกกับสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่ามากกว่าตัว Stablecoin ที่ถูกสร้างขึ้นประมาณ 1-2 เท่าตัว เพื่อป้องกันความผันผวนของราคา และหากมีการลดลงอย่างรวดเร็วของมูลค่าสกุลเงินที่ผูกไว้ก็อาจจะทำการตัดการผูกมูลค่ากับสกุลเงินนั้นไปเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา ยกตัวอย่างเช่น DAI ที่ทำงานอยู่บน Ethereum จำนวนของ DAI จะถูกควบคุมโดยผู้ถือเหรียญ MarkerDAO (MKR) ผ่าน Smart contract และคอยปรับเปลี่ยนอัตราส่วนของผลตอบแทนที่จะได้รับ เพื่อไม่ให้เกิดการเฟ้อของเหรียญนั่นเอง

Algorithm-based เป็น Stablecoin ที่ไม่ได้มีการผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ใดๆเลย ซึ่งก็ให้อารมณ์เหมือนรูปแบบของระบบการเงินในปัจจุบันอยู่พอสมควร จะมีการใช้อัลกอริทึมจาก Smart contract ในการปรับเปลี่ยนปริมาณของเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด ให้มีมูลค่าคงที่ หากมีการลดลงของราคาเหรียญ ก็จะทำการลดปริมาณเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ และช่วงที่เหรียญมีราคาสูงมากเกินไป ก็จะทำการเพิ่มปริมาณเหรียญเข้ามาในระบบ ตามหลักของอุปสงค์และอุปทาน

Commodity-backed เป็น Stablecoin ที่ผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ทองคำ ตราสารต่างๆ น้ำมัน หุ้น เช่น Tether Gold (XAUT) และ Paxos Gold (PAXG) ซึ่งเป็นโทเค็นที่ถูกผูกมูลค่าไว้กับทองคำที่เป็นทองคำแท่งจริง ๆ