Tokenomics ศาสตร์ที่ควรรู้ในโลกของคริปโตเคอเรนซี

ก่อนที่นักลงทุนจะทำการลงทุนในสินทรัพย์ใด การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดโดยภาพรวมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องทำการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการทำประโยชน์ของเหรียญหรือโทเค็นนั้น สกุลเงินนั้นมีการทำงานบนแพลตฟอร์มเบื้องต้นอย่างไร การทำงานที่มีประสิทธิภาพและประโยชน์ของสกุลเงินนั้นจะส่งผลต่อการเติบโตที่จะทำให้มีการซื้อขายและการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมูลค่า

Tokenomic นั้นเป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกคิดขึ้นมาโดยเฉพาะในโลกของคริปโต เป็นการนำความรู้และวิธีการทางด้านเศรษฐศาสตร์หลายแขนงมาประยุกต์ใช้กับสกุลเงินดิจิทัลหรือโทเค็นต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเห็นข้อมูลภาพรวมในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ โดยสามารถนำมาปรับใช้ในหลากหลายเช่นเรื่องพื้นฐานอย่างหลัก Demand&Supply การคาดการณ์ถึงการเติบโตซึ่งพิจารณาจาก Market Cap หรือ Market Size อัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินฝืด เป็นต้น

หากไม่มีความรู้ด้านเทคนิคในการอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Smart Contract แต่การที่มีพื้นฐานด้าน Tokenomics นี้เองที่จะมาช่วยกลบจุดอ่อนในส่วนนี้ไม่มากก็น้อย เบื้องต้นควรพิจารณาถึงคุณสมบัติกันก่อนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นที่เราต้องการลงทุน ถูกจัดอยู่ในหมวดใด เหมาะสมที่จะเป็นสกุลเงินสำหรับใช้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือเหมาะที่จะเป็นโทเค็นที่มีจุดประสงค์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจง หากพิจารณาแล้วว่าเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสมที่จะเป็นสกุลเงินในอนาคต สิ่งที่จะต้องพิจารณาเจาะลึกเข้าไปอีกคือ 

  • มีการกำหนดปริมาณสูงสุด (Maximum Supply) ไว้หรือไม่ หากไม่มีอาจจะทำให้เกิดการเฟ้อและทำให้มูลค่าของเหรียญลดลงในระยะยาว 
  • มีการใช้งานที่แพร่หลาย (Market Size) มากน้อยแค่ไหน เพราะหากมีการใช้งานที่แพร่หลายในวงกว้างทั้งในภาคธุรกิจและในชีวิตประจำวันทั่วไปที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นได้
  • มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) เท่าไหร่ โดยคำนวณจากจำนวนปริมาณสูงสุดของเหรียญ ซึ่งจะสะท้อนว่าเหรียญนั้นๆจะมีศักยภาพในการเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนในเบื้องต้น
  • ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ณ ปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโต โดยหากมีอัตราของเงินเฟ้อที่มากจนเกินไปก็จะส่งผลให้เหรียญถูกลดมูลค่า และสูญเสียความน่าเชื่อถือไป แต่การมีอัตราเงินเฟ้อเหมาะสม เช่น อัตราเงินเฟ้อในระดับที่เล็กน้อยก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้เมื่ออัตราเงินเฟ้อสิ้นสุดจากการกำหนดปริมาณสูงสุดไว้ก็จะคงที่และเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation)

หากพิจารณาแล้วสินทรัพย์นั้นเหมาะที่จะเป็นโทเค็นก็จะมีประเด็นที่ให้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาคือ

  • Objective การใช้งานของโทเค็นนั้นใช้เพื่อจุดประสงค์ใด ทำไมถึงต้องใช้ และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
  • System รูปแบบการใช้งานเป็นอย่างไร เป็นโทเค็นที่สามารถหมุนเวียนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือใช้แล้วหายไป รวมไปถึงอัตราความถี่ที่ต้องใช้งานโทเค็นนั้น เพราะหากเป็นโทเค็นที่มีอัตราการใช้งานที่บ่อย ก็จะส่งผลต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีการปรับตัวของมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นได้
  • User growth rate อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานโทเค็นนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะโทเค็นแต่ละตัวนั้นมีจุดประสงค์ของการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงของตนเอง หากไม่มีผู้ใช้งานหน้าใหม่เข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ใช้งานเก่าก็ค่อย ๆ ลดการใช้งานลงไป ก็จะส่งผลให้โทเค็นนั้นหยุดการเติบโตและเข้าสู่ภาวะถดถอยของมูลค่า

โดยสรุปแล้วทั้งเหรียญที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลและโทเค็นนั้นภาพรวมของมันก็คือเกมที่ต้องมีทั้งฝ่ายที่แพ้และฝ่ายชนะ (Zero Sum Game) คือการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ผลประโยชน์ ก็ย่อมมีอีกฝ่ายที่เสียผลประโยชน์เสมอ และการพิจารณาเบื้องต้นควรคิดถึง Demand&Supply เป็นหลัก เหรียญที่มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเพราะมีคนให้ความสนใจมากขึ้น และกลับกันในทางตรงกันข้าม และต้องพิจารณาว่าอะไรที่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งโดยหลักแล้วก็จะเป็นการยอมรับและการให้คุณค่าจากผู้คนที่ใช้งาน ก็เป็นเหมือนกับเงินเหรียญและธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ แค่ทุกคนมองมันว่ามีมูลค่าในตัวเองและสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้ ก็จะทำให้เกิดมูลค่าของมันขึ้นมานั่นเอง